RAM มือถือยุคใหม่ ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ?

RAM มือถือยุคใหม่ ต้องมีเท่าไหร่ถึงจะพอ?

 

การแข่งขันด้านสเปก เป็นเรื่องปกติของวงการอุปกรณ์ไอทีทั้งหลายรวมถึงสมาร์ทโฟน โดยเฉพาะในยุคที่สมาร์ทโฟนจีนเฟื่องฟู แบรนด์ต่างๆ ยิ่งพยายามจัดสเปกสมาร์ทโฟนของตัวเองให้แรงขึ้นเรื่อยๆ ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร ทำให้เราได้เห็นการก้าวกระโดดของสเปกสมาร์ทโฟนในหลายๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นความละเอียดของกล้อง, ความจุแบตเตอรี่, ความเร็วในการชาร์จ, พลังของชิปเซ็ตประมวลผล และสิ่งหนึ่งที่แข่งกันมากที่สุด ก็คือ RAM ซึ่งมีความจุมากขึ้นเรื่อยๆ จนตอนนี้ก็แตะ 16 GB เข้าไปแล้ว เยอะกว่าคอมพิวเตอร์แล็ปท็อปบางรุ่นเสียอีก…แต่สมาร์ทโฟนของเรา จำเป็นต้องมี RAM มากขนาดนั้นจริงหรือ?

ก่อนที่เราจะไปหาคำตอบในเรื่องนี้ เรามาทำความรู้จัก RAM และหน้าที่ของมันก่อนดีกว่าครับ

 

RAM ในมือถือมีไว้ทำไม?

RAM หรือชื่อเต็ม Random Access Memory คือหน่วยความจำที่มีไว้สำหรับพักข้อมูลของโปรแกรมที่กำลังใช้งานอยู่ในขณะนั้น เพื่อให้หน่วยประมวลผลหรือ CPU เข้าถึงได้ทันที หากไม่มี RAM CPU จะต้องค้นหาและดึงข้อมูลจากหน่วยความจำถาวรหรือ ROM (Read-only Memory) โดยตรง ทำให้เสียเวลามากขึ้น สำหรับสมาร์ทโฟนที่ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เมื่อเราเปิดแอปพลิเคชันขึ้นมา ข้อมูลบางส่วนของแอปนั้นๆ จะถูกโหลดจาก ROM ขึ้นมาบน RAM เพื่อให้ CPU เข้าถึงและประมวลผลได้อย่างรวดเร็ว

หากใครยังไม่เห็นภาพ ลองนึกภาพโต๊ะทำงานตัวหนึ่ง โดย RAM คือพื้นที่หน้าโต๊ะ ROM คือลิ้นชักเก็บเอกสารต่างๆ ส่วนคนที่นั่งอยู่ตรงโต๊ะทำงานตัวนั้นก็คือมือถือ เวลาที่ผู้ใช้เรียกใช้งานแอปพลิเคชัน หรือเรียกใช้ไฟล์ต่างๆ มือถือก็จะไปค้นหาไฟล์เหล่านั้นที่ถูกเก็บเอาไว้ในลิ้นชัก มาเตรียมไว้ที่หน้าโต๊ะ เพื่อให้ผู้ใช้หยิบเอกสารไปใช้ได้ทันทีแบบไม่ต้องรอ

แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราเปิดแอปขึ้นมามากขึ้น จนกระทั่งไม่มีพื้นที่หน้าโต๊ะเหลือเพียงพอสำหรับแอปใหม่อีกต่อไป ระบบ Android จะมีวิธีจัดการกับปัญหานี้ 2 แบบ นั่นคือ SWAP และการ Kill process

SWAP จะเป็นวิธีที่ Android เลือกใช้ก่อนเสมอ โดยวิธีนี้ Android จะย้ายข้อมูลที่เก่าที่สุดบน RAM ไปเก็บไว้บน ROM ชั่วคราว เมื่อเรากลับมาเรียกใช้ข้อมูลนั้นอีกครั้ง ระบบก็จะทำการโหลดข้อมูลขึ้นมาบน RAM ตามเดิม ทำให้เราใช้งานแอปพลิเคชันนั้นต่อได้โดยไม่ต้องเริ่มแอปใหม่ ทั้งนี้ พื้นที่ส่วนหนึ่งของ ROM จะถูกสงวนไว้สำหรับการ SWAP โดยเฉพาะ ซึ่งก็มากน้อยต่างกันไปตามที่ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนนั้นๆ ตั้งค่ามา

แต่ถ้าแอปที่เปิดขึ้นมาใหม่ต้องการใช้พื้นที่บน RAM มาก และการ Swap คืนพื้นที่บน RAM ให้ไม่พอ ระบบ Android จะใช้วิธีที่เข้มงวดขึ้น นั่นคือการ Kill process หรือเคลียร์ข้อมูลที่ค้างอยู่บน RAM ทิ้ง โดย ระบบจะประเมินหา process ที่มีความสำคัญต่ำ และไม่ได้ถูกเรียกใช้เป็นเวลานาน แล้วจัดการปิดมันทิ้งไปเพื่อเคลียร์พื้นที่ให้กับแอปใหม่ ในกรณีนี้ หากเราสลับแอปนั้นขึ้นมาใช้งานอีก แอปจะเริ่มทำงานใหม่ตั้งแต่ต้น ไม่สามารถใช้ต่อจากที่ค้างไว้ได้

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นจริงๆ เมื่อสมาร์ทโฟน RAM หมดคือ เราจะสลับใช้งานแอปพลิเคชันหลายๆ ตัวไม่ได้นั่นเอง

 

แอปพลิเคชันแต่ละตัวใช้ RAM มากขนาดไหน?

Gary Sims จาก Android Authority ได้พยายามค้นหาคำตอบนี้อย่างเป็นรูปธรรม ด้วยการสร้างแอปพลิเคชันเฉพาะกิจขึ้นมาตรวจสอบการทำงานและวัดปริมาณ RAM ที่แอปพลิเคชันใช้ โดยเลือกเฉพาะเกมที่ได้รับความนิยม และเบราเซอร์มาตรฐานอย่าง Chrome ซึ่งได้ผลออกมาดังนี้:

  • Subway Surfers : 750MB
  • 1945 Air Force : 850MB
  • Candy Crush : 350MB
  • Brawl Stars : 500MB
  • Minecraft : 800MB
  • Asphalt 9 : 800MB
  • Shadowgun Legends : 900MB
  • Elder Scrolls Blades : 950MB
  • Genshin Impact : 1.4GB
  • Chrome (12 แท็บ) : 2.2GB

 

RAM เยอะ RAM น้อย ต่างกันอย่างไร?

เพื่อให้เห็นความแตกต่างระหว่างสมาร์ทโฟนที่มี RAM เยอะ กับสมาร์ทโฟนที่มี RAM น้อย Gary Sims ได้ทำการทดสอบต่อ ด้วยการเปรียบเทียบอัตราการ SWAP RAM ในสมาร์ทโฟน Galaxy S21 Ultra (RAM 12GB) กับ Pixel 3XL (RAM 4GB) โดยตรวจวัดตั้งแต่เริ่มบูตเครื่อง ซึ่งผลออกมาเป็นไปตามกราฟด้านล่าง

เส้นสีฟ้า = ปริมาณ RAM ที่เหลือ

เส้นสีเขียว = อัตราการ SWAP

จากกราฟนี้จะเห็นได้ว่า ยิ่ง RAM เหลือน้อยลงเท่าไหร่ ก็ยิ่งเกิดการ SWAP มากขึ้นเท่านั้น โดยสมาร์ทโฟนที่มี RAM มากอย่าง Galaxy S21 Ultra สามารถเปิดเกมที่นำมาทดสอบได้หมดทุกเกม รวมถึงเกมปราบเซียนอย่าง Genshin Impact โดยที่ไม่มีเกมไหนถูก Kill process เลยแม้แต่เกมเดียว จนกระทั่งเขาได้ตัดสินใจเปิดเบราเซอร์ Chrome ขึ้นมาอีก 12 แท็บ ซึ่งกิน RAM เพิ่มไปอีก 2.2 GB คราวนี้ระบบจึงได้เลือก Kill process เกม Minecraft ไป

ในขณะเดียวกัน Pixel 3XL สามารถเปิดเกมได้ 3 เกม คือ Subway Surfers, 1945 Air Force และ Candy Crush เมื่อเปิดเกม Brawl Stars เพิ่ม ระบบก็จัดการ Kill Process เกม Subway Surfers ทันที แสดงให้เห็นว่าสมาร์ทโฟน RAM น้อยสามารถรองรับการเปิดแอปพร้อม ๆ กันได้น้อยมาก ทำให้เราต้องโหลดแอปใหม่แทบทุกครั้งที่เราสลับแอปขึ้นมาใช้งาน

มาถึงตรงนี้หลายคนอาจมองว่าการโหลดแอปใหม่ไม่ใช่ปัญหา เพราะเวลาเปิดขึ้นมาใช้งานก็ใช้ได้ทีละแอปอยู่แล้ว แต่หากสังเกตพฤติกรรมการใช้งานของเราในปัจจุบันให้ดี ๆ จะพบว่าเราเปิดใช้แอปหลายตัวพร้อมกันมากกว่าเมื่อก่อน ยกตัวอย่างเช่น เปิด Shopee กับ Lazada ขึ้นมาสลับกันดูเพื่อเปรียบเทียบราคาสินค้า หรือเปิด Grab, Lineman และ Robinhood ขึ้นมาเพื่อเปรียบเทียบค่าส่งและโปรโมชั่น และในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง เราอาจจะเปิด YouTube หรือ Spotify ไว้ฟังเพลงอยู่เบื้องหลัง และคุย Line กับเพื่อนไปด้วย หากเราต้องมารอโหลดแอปใหม่ทุกครั้งที่มีการสลับใช้งานก็คงจะเสียเวลาและน่ารำคาญไม่น้อยเลย

 

สรุปแล้ว RAM เท่าไหร่ถึงจะพอ?

จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่า RAM 12GB สามารถที่จะเปิดแอปขึ้นมา 9 แอป และสลับใช้งานไปมาได้โดยไม่ต้องเริ่มใหม่ ในแง่ของผู้ใช้งานทั่วไปก็ถือว่าเพียงพอแล้ว หากลองเปรียบเทียบกันดู เชื่อว่าสมาร์ทโฟนในปัจจุบันควรมี RAM อย่างน้อย 8GB ขึ้นไป เพื่อให้สลับใช้งานแอปได้อย่างราบรื่น

อย่างไรก็แล้วแต่ ยิ่งเวลาผ่านไป สมาร์ทโฟนก็ยิ่งมีความสามารถมากขึ้นเรื่อย ๆ เราอาจจะได้เห็นแอปที่มีการทำงานซับซ้อนมากขึ้น และกิน RAM มากขึ้น ปริมาณ RAM ที่มือถือควรจะมีก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปด้วย ถึงตอนนั้นเราก็คงจะต้องมาหาคำตอบกันใหม่ว่า RAM เท่าไหร่ถึงจะพอครับ

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com
 

วันที่ : 5/6/2567