5 ความเชื่อผิด ๆ ในการชาร์จมือถือที่คุณอาจทำมาตลอดโดยไม่รู้ตัว อัปเดต 2024

5 ความเชื่อผิด ๆ ในการชาร์จมือถือที่คุณอาจทำมาตลอดโดยไม่รู้ตัว อัปเดต 2024

 

การชาร์จมือถืออาจเป็นได้ทั้งสิ่งที่ง่ายที่สุด และยากที่สุดในเวลาเดียวกัน เพราะเอาเข้าจริงแล้วเราไม่ได้แค่เสียบสาย USB แล้วตั้งทิ้งไว้เฉยๆ ยังมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมายที่เราควรปฏิบัติตามเพื่อให้การชาร์จมีประสิทธิภาพสูงสุด ปลอดภัยที่สุด และยืดอายุการใช้งานของแบตเตอรีออกไปให้นานที่สุด ซึ่งเราก็มักจะได้รับคำแนะนำที่เล่าต่อๆ กันมา บางอย่างก็นำไปใช้ได้ แต่บางอย่างก็เป็นความเข้าใจผิดที่อาจส่งผลเสียมากกว่าผลดี และสำหรับในวันนี้ เราจะมาพูดถึงความเข้าใจผิดยอดฮิต 5 อย่างเกี่ยวกับการชาร์จแบตมือถือครับ

 

1. ชาร์จมือถือข้ามคืนอาจทำให้มือถือระเบิด

การชาร์จสมาร์ทโฟนข้ามคืนเป็นอะไรที่ใครๆ ก็ทำกัน เพื่อที่เราจะได้ตื่นขึ้นมาพร้อมกับแบตเตอรีเต็มเปี่ยมพร้อมใช้งาน แต่ก็มักจะมีคนเตือนเราอยู่เสมอว่า การชาร์จทิ้งไว้ทั้งคืนแบบนี้อาจทำให้แบตเตอรีลุกไหม้ หรือถึงขั้นระเบิดได้จากการโอเวอร์ชาร์จ แต่ความจริงก็คือ เราไม่สามารถโอเวอร์ชาร์จสมาร์ทโฟนจากการชาร์จโดยปกติได้ เนื่องจากสมาร์ทโฟนทุกรุ่นในปัจจุบันจะมีวงจรควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้า ที่จะค่อยๆ ลดการจ่ายกระแสไฟลงเรื่อยๆ เมื่อการชาร์จเข้าใกล้ 100% (สังเกตว่าความเร็วในการชาร์จจะช้าลงหลังจาก 90% ขึ้นไป) และจะตัดกระแสไฟเมื่อชาร์จจนเต็ม 100% แล้ว นอกจากนี้ วงจรควบคุมยังสามารถวัดความร้อนในระบบชาร์จได้ด้วย เมื่อมีความร้อนสูงก็จะลดการจ่ายกระแสไฟฟ้าลงโดยอัตโนมัติ ดังนั้นหากทุกอย่างทำงานถูกต้อง การโอเวอร์ชาร์จจะไม่มีทางเกิดขึ้นเลย

อันตรายที่แท้จริงของการชาร์จสมาร์ทโฟนข้ามคืน คือความร้อนสะสมจากการชาร์จ โดยเฉพาะเมื่อใส่เคสที่มีการระบายความร้อนไม่ดี รวมไปถึงการชาร์จสมาร์ทโฟนทิ้งไว้ในจุดที่ระบายความร้อนลำบาก เช่น ใต้ฟูก หรือใต้หมอน ความร้อนที่ไม่มีที่ไปอาจสะสมอยู่ในตัวแบตเตอรีจนลุกไหม้หรือระเบิดได้ อีกปัจจัยหนึ่งที่นำไปสู่การลุกไหม้คือการใช้สายชาร์จหรือแท่นชาร์จที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือฝืนใช้สายชาร์จที่ขาดจนเห็นสายไฟข้างใน ซึ่งในกรณีหลังนอกจากจะเสี่ยงต่อการลุกไหม้แล้ว ยังเสี่ยงต่อการโดนไฟช็อตอีกด้วย ซึ่งระยะหลังนี้มีข่าวคนถูกไฟช็อตระหว่างชาร์จมือถือยังมีบ่อยกว่ามือถือระเบิดเสียอีก

 

2. ควรใช้จนแบตหมดเกลี้ยงแล้วค่อยชาร์จจนเต็ม

นี่ก็เป็นอีกหนึ่งความเชื่อที่เราได้ยินกันอยู่บ่อยๆ แต่ความจริงก็คือ การปล่อยให้แบตเตอรีสมาร์ทโฟนหมดเกลี้ยงแล้วค่อยชาร์จจนเต็มไม่ได้ช่วยยืดอายุการใช้งานแบตเตอรีขึ้นเลย กลับกันมันยังทำให้แบตเสื่อมเร็วอีกด้วย

ที่มาของความเชื่อนี้ น่าจะมาจากวิธีการชาร์จแบตเตอรี่ประเภท นิกเกิล-แดคเมียม (Ni-Cd) ซึ่งนิยมใช้กันมากช่วงยุค 90 ซึ่งแบตเตอรีชนิดนี้ มีข้อจำกัดด้านการจดจำกระแสเดิม (memory effect) หากนำไปชาร์จโดยที่ยังเหลือประจุอยู่ ความจุของตัวแบตจะลดลง แต่แบตเตอรีที่ใช้กันอยู่ในสมาร์ทโฟนยุคปัจจุบันเป็นแบตเตอรีชนิด ลีเธียม-ไอออน (Li-Ion) หรือ ลีเธียม-โพลิเมอร์ (Li-Po) ซึ่งไม่มีปัญหาเรื่อง memory effect แต่ความจุจะค่อยๆ ลดลงตามรอบการชาร์จ (cycle) และไม่ได้ลดแบบฮวบฮาบ บางคนเปลี่ยนสมาร์ทโฟนเครื่องใหม่ก่อนแบตจะเสื่อมด้วยซ้ำไป ดังนั้นเราจึงสามารถชาร์จสมาร์ทโฟนของเราได้ทุกเมื่อโดยไม่ต้องรอให้เหลือ 0% ครับ
 

3. ต้องใช้แท่นชาร์จและสายชาร์จยี่ห้อเดียวกันเท่านั้น

แน่นอนว่าการใช้สายชาร์จของแท้ที่เป็นของแบรนด์สมาร์ทโฟนโดยตรงเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการใช้สายชาร์จยี่ห้ออื่นจะเป็นอันตรายแต่อย่างใดตราบใดที่อุปกรณ์เป็นของแท้และเป็นยี่ห้อที่เชื่อถือได้ ก็สามารถใช้งานแทนกันได้ตามปกติ เพียงแต่ว่าสายชาร์จบางรุ่นอาจจะไม่รองรับระบบชาร์จเร็วของสมาร์ทโฟนบางรุ่น ซึ่งต้องตรวจสอบให้ดีก่อนซื้อมาใช้ครับ
 

4. การชาร์จไปเล่นไปจะทำให้มือถือระเบิด

หลายคนเชื่อว่าการเล่นสมาร์ทโฟนระหว่างที่กำลังชาร์จอยู่อาจทำให้แบตเตอรีระเบิด ลุกไหม้ หรือเกิดไฟช็อตเอาได้ ความจริงก็คือการเล่นไปชาร์จไปจะทำให้แบตเตอรี่เสื่อมสภาพเร็วขึ้น แต่จะไม่ถึงขั้นระเบิดคามือหากเราใช้อุปกรณ์การชาร์จที่ได้มาตรฐานครับ

สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับสมาร์ทโฟนเมื่อเราชาร์จไปด้วยเล่นไปด้วยคือแบตเตอรีจะคายประจุและเก็บประจุไปพร้อมๆ กัน เมื่อเวลาผ่านไปอาจทำให้บางส่วนของแบตเตอรีผ่านรอบการชาร์จ (cycle) มามากกว่าส่วนอื่นๆ หรือพูดง่ายๆ คือแบตเตอรีเสื่อมไม่เท่ากันทั้งก้อน และหมดสภาพไปก่อนเวลาอันควร ส่วนการที่แบตเตอรีจะระเบิดหรือลุกไหม้ได้นั้น ขึ้นอยู่กับความร้อนสะสมและแรงดันไฟฟ้าเกินจากอุปกรณ์ที่ไม่ได้มาตรฐานมากกว่า ดังนั้นหากต้องการยืดอายุการใช้งานแบตเตอรีให้นานที่สุด ควรหลีกเลี่ยงการใช้งานสมาร์ทโฟนหนักๆ (เช่นการเล่นเกม) ระหว่างชาร์จ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้จริง ๆ ปัจจุบันมีสมาร์ทโฟนบางรุ่นที่มีระบบชาร์จแบบ Bypass ที่จะจ่ายไฟเข้าบอร์ดโดยตรงโดยไม่ผ่านแบตเตอรี เช่น Infinix Note 40 Pro+ ทำให้แบตไม่เสื่อมเวลาชาร์จไปเล่นไปครับ

 

5. ควรปิดแอปพื้นหลังทั้งหมดเพื่อประหยัดแบตเตอรี่

แอปพลิเคชันหลายตัวจะทำงานอยู่บนพื้นหลังตลอดเวลา ซึ่งทำให้หลายคนเชื่อว่าแอปพลิเคชันเหล่านี้เองที่คอยสูบแบตเตอรีอยู่เงียบๆ จึงพยายามเข้าไปปิดมันอยู่ตลอด แต่จริงๆ แล้วมันช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะส่วนใหญ่แอปพลิเคชันพวกนี้จะกลับมาทำงานบนพื้นหลังอีกครั้งทันทีที่เราปิดมัน ส่วนตัวการจอมสูบเบตเตอรีตัวจริงนั้นคือหน้าจอแสดงผล ดังนั้นแทนที่เราจะปิดแอปพวกนี้เฉยๆ ให้เราเปิดโหมดประหยัดพลังงานจะมีประสิทธิภาพมากกว่า เพราะโหมดนี้จะถูกตั้งค่ามาจากผู้ผลิตให้หยุดส่งข้อมูลพื้นหลังทั้งหมดเมื่อไม่ได้เปิดหน้าจออยู่แล้ว หรือถ้าเราไม่จำเป็นต้องใช้สมาร์ทโฟนก็เปิดโหมดเครื่องบินไปเลยก็ได้เหมือนกันครับ

ก่อนจะจากกันไปในครั้งนี้ หวังว่าทุกท่านจะมีความเข้าใจเรื่องการชาร์จแบตเตอรีมือถือมากขึ้น และหลีกเลี่ยงวิธีชาร์จที่ส่งผลเสียต่อตัวเครื่องได้ครับ

 

นำเสนอบทความโดย : thaimobilecenter.com

 

วันที่ : 24/5/2567